ชะนีดำใหญ่, ไซแมง

Siamang, greater gibbon

Symphalangus syndactylus

ชื่อพ้อง

Hylobates syndactylus (Raffles, 1821) 
Symphalangus continentis Thomas, 1908 
Symphalangus gibbon (C. Miller, 1779) 
Symphalangus subfossilis Hooijer, 1960 
Symphalangus volzi (Pohl, 1911) 

ลักษณะทั่วไป

ชะนีดำใหญ่เป็นชะนีที่ใหญ่ที่สุด ขนหยาบยาวสีดำเป็นมันวาว หน้าอกกว้าง กระหม่อมแบน มีถุงใต้คางโป่งพองได้คล้ายคนเป็นคอพอก ถุงนี้พองได้ใหญ่เท่ากับหัวของตัวเองเลยทีเดียว ถุงนี้ทำหน้าที่เป็นกล่องเสียงช่วยขยายเสียงให้ดังกังวานยิ่งขึ้น โพรงกะโหลกใหญ่ ใบหน้าเกลี้ยงไม่ค่อยมีขน มีเขี้ยวยาวทั้งสองเพศ ตัวสูง 73.7-88.9 เซนติเมตร ตัวผู้หนัก 11.9 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก 10.7 กิโลกรัม แขนยาวประมาณ 2.3-2.6 เท่าของความยาวลำตัว ไม่มีหางเช่นเดียวกับกับชะนีทั่วไป แต่ชะนีดำใหญ่ตัวผู้มีขนที่บริเวณอวัยวะเพศเป็นพู่ที่ยาวได้ถึง 13.5 เซนติเมตร ซึ่งมองเผิน ๆ อาจดูคล้ายหาง นิ้วชี้และนิ้วกลางมีพังผืดเชื่อมติดกัน บางครั้งพังผืดนี้อาจพบในระหว่างนิ้วนางกับนิ้วก้อยด้วย 

ชะนีดำใหญ่ (ภาพโดย Gordon Gartrell)


ถิ่นที่อยู่อาศัย

พบได้ในป่าหลายประเภท ป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าชั้นสอง ทั้งในที่ต่ำและป่าตามภูเขา มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลมากกว่าชะนีชนิดอื่น แต่ส่วนใหญ่พบที่ระดับต่ำกว่า 1,500 เมตร เคยพบที่ระดับสูงที่สุด 1,828 เมตร เขตกระจายพันธุ์อยู่ในทางตะวันตกของเกาะสุมาตราและคาบสมุทรมลายู ทั้งสองพื้นที่นี้ต่างชนิดย่อยกัน พวกที่อยู่ในคาบสมุทรมลายูคือชนิดย่อย S. s. continentis  ส่วนพวกที่อยู่ในเกาะสุมาตราคือชนิดย่อย S. s. syndactylus  มีรายงานพบในเขตประเทศไทยหนึ่งครั้งที่จังหวัดนราธิวาสในปี 2540 



อุปนิสัย

ชะนีดำใหญ่ออกหากินตั้งแต่เช้าครู่ การหากินจะคึกคักที่สุดในช่วงเช้า ส่วนในช่วงบ่ายจะหากินน้อยลงและพักมากขึ้น ชะนีดำใหญ่เคลื่อนที่ด้วยการห้อยโหนไปตามกิ่งไม้เป็นหลัก อาจมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของการเคลื่อนที่ทั้งหมด แต่เมื่อลงพื้นดิน จะเดินด้วยสองขา เปรียบเทียบกับชะนีชนิดอื่นแล้ว ชะนีดำใหญ่ออกจะเชื่องช้ากว่า ชะนี้ดำใหญ่ฝูงหนึ่งมีสมาชิกเฉลี่ย 3.9 ตัว มีความสัมพันธ์ในฝูงแนบแน่นมาก มักอยู่ใกล้ชิดกันเกือบตลอดเวลา อาหารหลักของชะนีดำใหญ่คือผลไม้โดยเฉพาะลูกไทร รองลงมาคือใบไม้สด ดอกไม้ และแมลง เมื่อถึงเวลากลางคืน ชะนีจะเข้านอน มักมีต้นนอนประจำและเลือกนอนบนกิ่งที่สูงที่สุดในต้นนอนเสมอ

อาณาเขตหากินของชะนีดำใหญ่เล็กกว่าชะนีชนิดอื่น  ฝูงหนึ่งมีพื้นที่หากินประมาณ 0.2-0.48 ตารางกิโลเมตร ไม่ซ้อนเหลื่อมกันหรือซ้อนเหลื่อมกันน้อยมาก ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเรือนยอดของป่า เวลาเคลื่อนย้ายหากิน มักเดินทางในรูปแบบของแถวเรียงหนึ่ง เป็นสัตว์หวงถิ่นมาก ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะร้องสอดประสานเสียงกันเพื่อประกาศอาณาเขต ตัวผู้มักห้อยโหนไปมาตามกิ่งไม้ระหว่างร้อง เมื่อมีผู้บุกรุกเข้าไปในอาณาเขต (เช่นมนุษย์) ตัวผู้จะเป็นฝ่ายออกมาต้อนรับขับสู้ในขณะที่ตัวเมียจะล่าถอยไป หากผู้บุกรุกเป็นชะนีดำใหญ่ด้วยกัน ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะร่วมกันต่อสู้ปกป้องเขตแดนโดยไล่กวดกันไปตามกิ่งไม้ ทั้งตบตีและไล่กัด ในพื้นที่ที่ชะนีดำใหญ่อาศัยร่วมกับชะนีชนิดอื่น อาจต้องมีการแก่งแย่งเพื่ออาหารกันบ้างแม้ไม่บ่อยนัก แต่มีรายงานว่าเคยพบชะนีดำใหญ่ตัวผู้ตัวหนึ่งกับชะนีมือขาวตัวหนึ่งเดินทางหากินด้วยกัน รวมถึงมีการส่งเสียงร้องประสานเสียงกันด้วย 

การสางขนเป็นพฤติกรรมสำคัญที่แสดงความเป็นสังคมของชะนีดำใหญ่ ชะนีดำใหญ่ตัวเต็มวัยจะใช้เวลาสางขนเฉลี่ยวันละ 15 นาที ตัวที่มีลำดับชั้นสูงกว่าจะเป็นผู้ให้ตัวอื่นสางขนมากกว่าสางขนให้ตัวอื่น ตัวผู้เต็มวัยจะสางให้ทั้งตัวเมียและตัวผู้วัยรุ่น ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะสางให้ตัวเมียมากกว่า

ชีววิทยา

ชะนีดำใหญ่ไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน เป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียว แม้หากคู่ตายไปก็มักไม่ค่อยหาคู่ใหม่ ตั้งท้องครั้งละ 230-235 วัน ออกลูกคราวละ ตัว แต่ละครองเว้นช่วงห่างยาว 2-3 ปี ลูกชะนีจะเกาะอยู่กับอกแม่ตลอดเวลา 3-4 เดือนแรก พ่อชะนีก็มีส่วนช่วยดูแลลูกด้วยเช่นกัน เช่นช่วยอุ้ม ช่วยสางขน เป็นเพื่อนเล่นกับลูก พี่น้องของชะนีเด็กที่เกิดในครอกก่อน ๆ ก็อาจช่วยเลี้ยงดูน้องด้วย ลูกชะนีหย่านมเมื่ออายุได้ 18-24 เดือน เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 6-7 ปี ชะนีดำใหญ่ตัวเมียอาจให้กำเนิดลูกได้ถึงกว่าสิบตัวตลอดอายุขัย ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุเกิน 40 ปี

สถานภาพ

แม้ชะนีดำใหญ่จะเป็นชะนีที่ดูจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด แต่การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยก็ยังคงเป็นภัยคุกคามหลักของสัตว์ชนิดนี้ และการลักลอบจับเพื่อนำไปเป็นสัตว์เลี้ยง ในเกาะสุมาตราคาดว่ามีประชากรอยู่ประมาณ 200,000 ตัว ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพว่า อันตราย (2551) ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข ในไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 
Symphalangus syndactylus
ชื่อไทยชะนีดำใหญ่, ไซแมง
ชื่อวิทยาศาสตร์Symphalangus syndactylus
ชั้นMammalia
อันดับPrimates
วงศ์Hylobatidae
สกุลSymphalangus

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://pin.primate.wisc.edu/factsheets/entry/siamang
  • http://www.iucnredlist.org/details/39779/0
  • http://animaldiversity.ummz.umich.edu/accounts/Symphalangus_syndactylus/

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 30 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 12 พ.ย. 66

Powered by Wimut Wasalai